การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) เป็นสาขาหนึ่งของวิชาการเงินที่กำเนิดมากว่า 20 ปีแล้วที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานทฤษฏีทางด้านเศรษฐศาสตร์ทางด้านการเงินเข้ากับทฤษฏีทางจิตวิทยา
ซึ่งแนวคิดการเงินเชิงพฤติกรรมนั้นได้แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์นั้นมีผลต่อการตัดสินใจในขณะลงทุนและยังเป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ในตลาดทุนอีกด้วย และถ้านักลงทุนลงด้วยความมีอคติ (Bias) ทางอารมณ์มากในขณะที่ตัดสินใจลงทุนผลลัพท์ที่ได้นั้นอาจจะบิดเบือนกับความต้องการที่แท้จริง
แนวคิดทางการเงินแบบดั้งเดิมนั้นถูกสร้างขึ้นมาภายใต้สมมุติฐานที่ว่า เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข่าวสารและตลาดนั้นมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักลงทุนนั้นก็ได้ใช้การตัดสินใจด้วยเหตุและผลโดยไม่มีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยวข้อง แต่สำหรับแนวคิดการเงินเชิงพฤติกรรม ซึ่งได้เกิดขึ้นเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ส่วนมากแล้วในทางปฏิบัติ อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือไม่
ความไม่มีเหตุผลของคนที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่ผิดพลาดนั้น เกิดจากสาเหตุสองประการ หนึ่งคือ การที่นักลงทุนมีข้อมูลไม่ครบถ้วนถูกต้องจึงทำให้การคาดการณ์โอกาสหรือความน่าจะเป็นของผลตอบแทนในอนาคตผิดพลาด (Information Processing) และสอง ถึงแม้จะมีข้อมูลผลตอบแทนและความน่าจะเป็นของผลตอบแทนที่ถูกต้องแล้ว นักลงทุนก็ไม่ได้ตัดสินใจสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้นั้นหรือเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ด้อยกว่าความเหมาะสม (Suboptimal Decision)
1) การประมวลผลข้อมูล: ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการประมวลผลข้อมูลทำให้นักลงทุนประเมินความน่าจะเป็นของผลตอบแทนผิดพลาดไป ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากสาเหตุหลายประการซึ่งในที่นี้จะสรุปสาเหตุการประมวลข้อมูลไม่ถูกต้องไว้สามประการ
1.1 การคาดการณ์ผิดพลาด การคาดการณ์ของคนมักจะให้น้ำหนักกับสิ่งที่พึ่งจะประสบมามากกว่าความเชื่อเดิมที่มีมาก่อนและมีแนวโน้มที่จะคาดการณ์ในทางในทางหนึ่งมากเกินไปเมือเผชิญกับข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนอาจจะมีการคาดการณ์กำไรที่จะได้ในอนาคตมากเกินความเป็นจริง โดยดูจากผลการดำเนินงานที่ดีมากในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนออกมาในค่า P/E ที่สูง โดยตัวอย่างนักวิชาการที่ได้ทำการวิจัยนี้คือ Deboudt and Thaler (1990) “Do security Analysts Correct”
1.2 การเชื่อมั่นมากเกินไป (Over Confidence) การที่นักลงทุนนั้นเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากเกิน จนทำให้เชื่อว่าการพยากรณ์ที่ตนเองคาดไว้นั้นมีความถูกต้องที่สุด และยังส่งผลต่อการที่นักลงทุนนั้นเลือกลงทุนด้วยสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงเพื่อที่จะหวังผลตอบแทนมากๆ นักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงนั้นจะเชื่อว่าการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนนั้นไม่มีความจำเป็นและยังส่งผลให้เกิดการซื้อขายหุ้นที่บ่อยครั้งซึ่งอาจจะส่งผลร้ายต่อการลงทุน
1.3 ความคิดติดยึดของการลงทุน (Conservatism) การทดสอบทางจิตวิทยาพบว่าคนมักจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นหรือกล่าวได้ว่าคนมักมีความคิดยึดติดกับวิถีการดำเนินชีวิตที่เคยเป็นอยู่แล้ว ในทางการลงทุนนั้นหมายถึงการที่นักลงทุนนั้นตัดสินใจช้าเกินไป (ยึดติดกับวิธีการลงทุนเดิม) ที่จะปรับเปลี่ยนความเชื่อเพื่อตอบสนองกับข่าวหรือเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อหุ้น รวมถึง การลงทุนเฉพาะในหุ้นหรือกิจการที่ตัวเองชอบหรือคุ้นเคยเท่านั้น ลักษณะความอคตินี้เรียกว่า Familiarity Bias
2) การเบี่ยงเบนทางพฤติกรรม ถึงแม้ว่าการประมวลผลนั้นจะถูกต้องแล้วแต่ยังพบว่าการตัดสินใจในบางเรื่องนั้นไม่ได้อาศัยเหตุและผล แต่กลับใช้อารมณ์ในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการซึ่งในที่นี้จะสรุปไว้สามประการ
2.1 การป้องกันความผิดหวัง นักจิตวิทยานั้นพบว่า คนมักจะพยายามหลีกเลี่ยงการขาดทุนมากกว่าการหากำไร หรือกล่าวได้ว่า ความเสียใจที่เกิดจากการขาดทุนมีความรุนแรงประมาณสองเท่าของความดีใจที่ได้กำไร หรือเหตุการณ์ที่เรามันจะพบในตลาดหุ้นนั่นก็คือ “Cut Profit, Let Lost Run” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อหุ้น 1ล้านบาท แล้วหุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไป 1.5 ล้านบาท ในเวลาอันรวดเร็วนักลงทุนจะขายทำกำไร ในทางตรงกันข้าม ถ้ามูลค่าหุ้นนั้นลงมาเหลือ 5 แสนบาท นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเก็บหุ้นตัวนี้ไว้โดยไม่ขาย แล้วหวังว่าวันหนึ่งจะขึ้นมาเท่าทุน หรือ ศัพท์วัยรุ่นเขาบอกว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน ซึ่งผลที่ตามมาคือ นักลงทุนจะถือหุ้นที่ขาดทุนนานเกินไปและส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนรวมของนักลงทุนที่ลดลง
2.2 Mental Accounting คือ เหตุการณ์ที่นักลงทุนนั้นให้ลำดับความสำคัญของเงินแต่ละส่วนไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่สมองของเรานั้นจะแบ่งเงินออกเป็นก้อนๆ ตามวัตถุประสงค์และที่มาว่าได้มาง่ายหรือได้มายาก ถ้าเงินก้อนนี้ได้มาง่าย เช่น ถูกล๊อตเตอรี่ เรามีแนวโน้มที่จะเสียเงินก้อนนั้นไปง่าย แต่ถ้าเงินก้อนนั้นหาได้มายาก เช่น เงินเดือน เราจะไม่ยอมเสียเงินก้อนนั้นไปง่ายๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว การให้เงินมีคุณค่าที่ต่างกันตามแหล่งที่มานั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล เงิน แม้ว่าจะมีแหล่งที่มาต่างกันก็มีค่าเหมือนกันทั้งสิ้น ซึ่งงานวิจัยที่ทำการวิจัย ผลของ Mental Accounting ก็คือ Odean (1998) “Are investors reluctant to realize their Losses?” Journal of Finance 53. pp 1775-98.
2.3 กรอบการพิจารณา เกิดจากการพฤติกรรมนักลงทุนนั้น มีแนวโน้มที่จะสนใจผลตอบแทนของสินทรัพย์รายตัวในพอร์ตมากกว่าการดูผลตอบแทนรวม ซึ่งถ้ามีหุ้นบางตัวในพอร์ตขาดทุนก็จะรู้สึกไม่สบายใจ ฉะนั้นการกำหนดกรอบระยะเวลาการลงทุน (Framing) จึงมีความสำคัญมาก ถ้าเราตั้งกรอบระยะเวลาการลงทุนที่แคบเกินไป นักลงทุนจะมีความรู้สึกที่ไวต่อผลขาดทุนของสินทรัพย์รายตัวมาก ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราตั้งกรอบระยะเวลาการลงทุนให้กว้างขึ้น นักลงทุนจะมีแนวโน้มที่จะสามารถยอมรับการขาดทุนระยะสั้นของสินทรัพย์บางตัวได้