เปิดโลกการลงทุน ตอนที่ 3

เมื่อตอนที่แล้วเราก็ได้รู้จักกับการลงทุนทางตรงกันไปแล้วนะคะ สำหรับในตอนนี้เราจะมาคุยกันต่อถึงการลงทุนทางอ้อมแบบลงรายละเอียด ว่ามีกี่ประเภท และข้อดี ข้อเสียของการลงทุนทางอ้อมมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านต่อได้เลยค่ะ

การลงทุนทางอ้อม ได้แก่ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ซึ่งข้อดีของการลงทุนทางอ้อมนั้นก็คือ เป็นการให้เงินทำงานอย่างแท้จริง และไม่ต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนที่สูงเท่ากับการลงทุนทางตรง ทำให้โอกาสที่จะกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนทำได้ง่ายกว่า ซึ่งการลงทุนทางอ้อมยังแบ่งเป็น

สารบัญ

การลงทุนด้วยตัวเอง

การลงทุนผ่านมืออาชีพ

สรุป

1. การลงทุนด้วยตัวเอง เช่น การลงทุนในหุ้น หรือในตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยการลงทุนประเภทนี้จะเหมาะกับคนที่มีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองลงทุน และมีเวลาในการติดตามข้อมูลข่าวสารในการลงทุนด้วยตัวเอง
ข้อสังเกตสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น เรามักจะได้ยินคำว่า ‘เล่นหุ้น’ มากกว่าคำว่า ‘ลงทุนในหุ้น’ ซึ่งไม่ค่อยจะถูกต้องสักเท่าไหร่
การลงทุนในหุ้นก็เหมือนการลงทุนในกิจการ เพียงแต่ว่า เป็นกิจการที่มีการจ้างมืออาชีพ ให้มาบริหารกิจการแทนเรานั่นเอง โดยเราจะมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นเจ้าของกิจการร่วมกันกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ซึ่งหน้าที่ของเราคือคอยติดตาม ตรวจสอบกิจการว่ามีการบริหารงานตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ โดยข้อมูลต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนก็มีเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณชน ในการที่จะลงทุนในหุ้นให้ประสบความสำเร็จ เราจึงต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น พร้อมทั้งวิเคราะห์กิจการให้ได้ด้วยว่า เป็นกิจการที่มีความสามารถที่จะเติบโตในระยะยาวได้หรือไม่ และคุ้มค่ากับการลงทุนของเราหรือเปล่าด้วยค่ะ
ข้อดีของการลงทุนทางอ้อมด้วยตัวเอง คือ มีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า เช่น หากลงทุนในหุ้นด้วยตนเอง จะมีแต่ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น หรือ brokerage fee ซึ่งต่ำกว่าค่าธรรมเนียมการจัดการเมื่อลงทุนผ่านกองทุนรวม และนักลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกการลงทุนด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนทางอ้อมด้วยตัวเองก็ยังอาจต้องใช้เงินลงทุนที่สูงกว่า เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ นักลงทุนต้องลงทุนขั้นต่ำที่ 100,000 บาท หรือการลงทุนในหุ้น โดยส่วนใหญ่ก็ต้องลงทุนขั้นต่ำที่ 100 หุ้น หากเราอยากจะลงทุนในหุ้นสัก 5 ตัว เพราะต้องการกระจายความเสี่ยง เราอาจต้องมีเงินลงทุนเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสนเชียวล่ะ ทำให้นอกจากต้องใช้เงินลงทุนที่สูงกว่าแล้ว โอกาสที่จะกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนก็น้อยลงตามไปด้วย

2. การลงทุนผ่านมืออาชีพ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป และกองทุนรวมส่วนบุคคล นักลงทุนบางท่านอาจไม่มีเวลาได้ติดตามข้อมูล หรือวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนต่างๆ การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็เป็นอีกช่องทางการลงทุนที่เหมาะสม เนื่องจากจะมีผู้จัดการกองทุนมาคอยคัดกรองเลือกหุ้น หรือสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ให้กับเรา
แม้ว่าจะมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารจัดการการลงทุนให้เรา แต่เราก็ยังต้องมีหน้าที่ในการศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนเช่นเดียวกัน
เราต้องมีความเข้าใจในนโยบายการลงทุน ต้องทำความเข้าใจข้อมูลในหนังสือชี้ชวนด้วย เป็นต้น เพราะในท้ายที่สุดตัวเราเองนี่ล่ะค่ะ ที่ต้องรับผิดชอบในการลงทุนของตัวเอง
ข้อดีของการลงทุนทางอ้อมผ่านมืออาชีพผ่านกองทุนรวม คือ นักลงทุนสามารถใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่า เพียงหลักร้อยหรือหลักพันก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้แล้ว (เงินลงทุนขั้นต่ำในการลงทุนผ่านกองทุนรวมอยู่ที่ 500 – 5,000 บาท ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมที่คุณสนใจลงทุน)
นอกจากนี้คุณยังสามารถเป็นเจ้าของหุ้นหลายตัวได้ แม้จะใช้เงินแค่หลักร้อยหรือหลักพันก็ตาม ทำให้นอกจากจะใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าแล้ว ยังสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าด้วย เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยที่ยังมีเงินลงทุนไม่มาก และยังไม่มีเวลาติดตามการลงทุนอย่างละเอียด อย่างไรก็ตามการลงทุนผ่านมืออาชีพ ก็เหมือนเราจ้างมืออาชีพมาบริหารเงินให้เรา ทำให้มีค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง

เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ นิก็เชื่อว่าทุกท่านคงมีความเข้าใจในทางเลือกการลงทุนต่างๆ ไม่มากก็น้อยกันไปแล้ว ดังนั้นอย่าลืมเปรียบเทียบทางเลือกการลงทุนต่างๆ ว่าเราน่าจะเหมาะกับการลงทุนแบบไหน ก่อนตัดสินใจลงทุนกันนะคะ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุน แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ

ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, PCC

Wealth Inspirer